กว่าสิบปีที่ต้องทน ชาวอยุธยาเผชิญวิบากกรรมฝุ่นจากการขนส่งแป้งมัน – ถ่านหิน

ชาวบ้านในพื้นที่ 2 อำเภอ นครหลวง – บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงต้องทนกับผลกระทบฝุ่นละอองจากการขนส่งแป้งมัน – ถ่านหิน ผ่านทางท่าเรือในแม่น้ำป่าสัก หลายครอบครัวเจ็บป่วยยกบ้าน โดยไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข แม้ว่าผู้ได้รับผลกระทบได้ต่อสู้ร้องเรียนปัญหามากว่า 10 ปี ในขณะที่บริษัทท่าเรือยังคงเดินหน้ากิจการปกติ ควบคู่กับทำ EIA ท่าเรือใหม่ ให้สามารถขนถ่ายสินค้าด้วยเรือใหญ่กว่า 500 ตันกรอส อย่างถูกกฎหมาย

การเดินเรือขนส่งสินค้าอย่างคับคั่ง และกิจกรรมขนถ่ายสินค้า ในพื้นที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนในพื้นที่อย่างมาก / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

“พี่เป็นคนที่นี่แหละ อยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิด บ้านเช่าอยู่ในเขตวัดร้างมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ต่อมานายทุนมาขอซื้อสิทธิต่อจากชาวบ้านทำท่าเรือ ต่อมาสร้างโกดังโดยไม่ผ่านประชาคมชาวบ้าน เพราะแต่แรกบอกว่าเป็นที่จอดรถ พอเริ่มทำกิจการขนถ่ายสินค้า ชาวบ้านก็ได้รับความเดือดร้อนกันมากจากมลพิษฝุ่นละออง” พี่แหม่ม ชลอ ทองคำ (58 ปี) ชาวบ้าน ต.บางเดื่อ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผย

“เราโดนปัญหานี้มากว่า 10 ปีแล้ว นายทุนเหล่านี้ต่างเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น เขาใช้อำนาจใหญ่นายโตมาข่มชาวบ้าน ถนนหน้าร้านพี่แป้งมันหกประจำ ฝุ่นคลุ้งเข้าบ้านชาวบ้าน พอฝนตกน้ำชะฝุ่นลงคลอง น้ำเน่าอีก ค้าขายก็ไม่ได้ ฝุ่นเต็มร้าน ตัวเองเป็นภูมิแพ้รักษาไม่หาย ต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นประจำ ทางบริษัทท่าเรือก็ไม่ใส่ใจ แจ้งหน่วยงานไหนเขาก็นิ่งดูดาย ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ลำบากกันหมด ชาวบ้านจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้”

นอกจากฝุ่นแป้งมัน เธอกล่าวว่า ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือฝุ่นถ่านหิน จากพื้นที่ชุมชนของเธอซึ่งมีลานเทกองถ่านหินขนาบทั้งเหนือและใต้ ทำให้ลมพัดฝุ่นและควัถนจากการสันดาปด้วยตัวเองของถ่านหินมากระทบชุมชนตลอดทั้งปี เธอเล่าว่า ในช่วงกลางคืนมักจะมีกลิ่นถ่านหิน จากไฟที่คุในกองถ่านหิน มีกลิ่นเหม็นมาก แสบปอดแสบจมูก

จากการที่ชาวบ้านต้องทนสูดดมฝุ่นควันจากการขนส่งสินค้าอย่างไม่เหมาะสมจากท่าเรือและโกดังสินค้าข้างเคียง ทำให้ชาวบ้านหลายคนรวมถึงแทบทุกคนในครอบครัวของเธอเองต้องป่วยหนัก พ่อผู้สูงอายุของเธอถึงกับกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เธอกล่าว

พี่ตุ่ม วัชรี โตสุวรรณ ชาวบ้าน ต.บางเดื่อ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอีกหนึ่งผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษจากการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือแม่น้ำป่าสัก / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

พี่ตุ่ม วัชรี โตสุวรรณ (51 ปี) ชาวบ้าน ต.บางเดื่อ ผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษจากการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรืออีกราย กล่าวว่า หลังจากท่าเรือและโกดังสินค้าเริ่มมาเปิดหลายเจ้าในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา เธอก็เริ่มป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยแพทย์ได้บอกกับเธอว่า การเจ็บป่วยของเธอเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม จนเธอจำเป็นต้องให้ออกซิเจนที่บ้าน เพื่อบรรเทาอาการหายใจไม่สะดวก หายใจแล้วติดขัด จากการที่ต้องอาศัยในพื้นที่มลพิษฝุ่นควันมาเป็นเวลายาวนาน

“บ้านพี่เจ็บป่วยกันเกือบทั้งบ้าน พ่อพี่ก็ป่วยต้องให้ออกซิเจน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแพงมาก ขนาดของพี่ใช้สิทธิประกันสังคม เดือนๆ นึงก็หมดไปหลายหมื่น ไหนจะค่าไฟเสียบออกซิเจน ค่าแอร์ เฉพาะค่าไฟก็หมดไปกว่าเดือนละ 3,000 บาทแล้ว” เธอกล่าว

“เราไม่ได้ร้องให้เขาเลิกกิจการ แต่อยากให้เขาพัฒนาคุณภาพการดำเนินกิจการ การขนส่งสินค้าอยากให้มันเป็นระบบปิด แบบที่เอสซีจีทำ ชาวบ้านโอเคกับระบบขนถ่ายถ่านหินของเอสซีจีที่เป็นระบบปิดหมด การขนถ่ายทั้งแป้งมันและถ่านหินควรจะต้องเป็นการขนถ่ายผ่านสายพานลำเลียง ไม่ใช่ใช้รถบรรทุกขนแบบนี้”

อำนาจ อ่วมภักดี ชาวบ้าน ต.คลองสะแก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาผลกระทบกิจการท่าเรือขนถ่ายสินค้าในแม่น้ำป่าสัก เปิดเผยว่า ปัญหาในพื้นที่เกิดขึ้นมาช้านานแล้ว โดยเริ่มต้นจากท่าเรือขนส่งแป้งมันในปี พ.ศ.2525 เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์เหมาะสมในการขนส่ง จากการเป็นจุดตัดระหว่างทางหลวงสายเอเชียกับแม่น้ำป่าสัก เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างทางรถและทางเรือ

“ภายหลังจากปี พ.ศ.2543 เริ่มมีถ่านหินเข้ามาครั้งแรกใน อ.นครหลวง นำไปใช้ที่โรงปูน สระบุรี จากนั้นท่าเรือก็ขึ้นในอำเภอนครหลวงเป็นดอกเห็ด เพราะถูกปิดจากที่สมุทรสาคร สาเหตุหลักเกิดจากความอ่อนแอของภาคประชาชน ไม่เหมือนกับที่สมุทรสาคร ที่กิจการท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่ก่อมลพิษโดนภาคประชาชนไล่มา แต่ที่นี่ภาคประชาชนอ่อนแอ จึงท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าที่มักง่ายจึงสามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น” อำนาจ กล่าว

ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Map แสดงให้เห็นท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่มีการเทกองถ่านหินกลางแจ้ง ตั้งอยู่ไม่ห่างจากชุมชน ในเขต อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

นอกจากปัญหามลพิษฝุ่น ควัน และเสียงดังจากการขนส่ง อีกหนึ่งปัญหาที่ชาวบ้านตลอดลำน้ำป่าสักต้องประสบก็คือปัญหาตลิ่งพังจากการจอดเรือซ้อนลำ อันเนื่องมาจากการเบี่ยงเบนของน้ำจากการใช้เรือใหญ่กว่ากำหนดไม่เกิน 500 ตันกรอส ในการขนส่งสินค้า ที่ปัจจุบันแทบทุกแห่งใช้เรือขนาดใหญ่มากกว่า 1,500 ตันกรอส

“เรือลากมันต้องใช้กำลังในการลากจูงเรือโป๊ะ (เรือพ่วงที่ใช้บรรทุกสินค้า) ยิ่งขนาดเรือใหญ่มาก เรือลากยิ่งต้องใช้กำลังในการขับเคลื่อนเรือโป๊ะมาก ทำให้ตลิ่งพัง เพราะคลื่นมันดันเข้าตลิ่ง นอกจากนี้การจอดเรือซ้อนกันจนขวางทางน้ำ ยังทำให้กระแสน้ำไหลเบี่ยงเบนไปกัดเซาะตลิ่ง จนบ้านเรือนริมน้ำจำนวนมากถูกกัดเซาะจนหมิ่นพังลงน้ำ” เขากล่าว

“มีท่าเรือใน อ.นครหลวง 26 ท่าเรือ ท่านึงวันละ 8 ลำ มีเรือเข้ามาเท่าไหร่ก็คูณไป เรือยังมาจอดออกันที่แถวหน้าท่า ทำให้เกิดปัญหา จุดจอดเรือไม่พอจอด ก็ต้องมาอาศัยหน้าบ้านคนอื่น โยงเรือกับต้นไม้ริมฝั่งจนต้นไม้ตายหมด”

เขาเผยว่า จากการที่มีการละเมิดกฎเกณฑ์ที่ไม่อนุญาตให้ใช้เรือขนส่งสินค้าขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ในแม่น้ำป่าสัก แต่ก็มีการใช้เรือเกินขนาดตลอด ทำให้ตลิ่งตลอดลำน้ำเสียหาย โดยที่ภาครัฐเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ.2558 ชาวบ้านจึงรวมตัวกันฟ้องต่อศาลปกครอง จนสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด บังคับบริษัทให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ภายใน 90 วัน

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทต่างๆ ก็แก้เกม โดยการมาทำ EIA กันใหม่ เพื่อขอใบอนุญาตให้สามารถใช้เรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ในท่าเรือของตน

นอกจากนี้ เขากล่าวว่า กิจกรรมการเดินเรือขนถ่ายสินค้ายังทำให้น้ำเสีย เพราะการร่วงหล่นของถ่านหิน แป้งมัน และสินค้าอื่นๆ ลงน้ำ คนเรือยังขับถ่ายทิ้งขยะลงน้ำ ทำให้น้ำเสีย สัตว์น้ำที่เคยมีหายไป วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไป จากเดิมที่ชาวบ้านเคยอาศัยเดินทางในลำน้ำก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเรือจอดเต็มไปหมด พระบินฑบาตไม่ได้ เด็กเล่นน้ำไม่ได้เพราะน้ำเสีย น้ำท่าที่เคยใช้การได้ก็ใช้ไม่ได้ น้ำฝนก็กินไม่ได้เพราะมลพิษทางอากาศ ทำให้ต้นทุนการดำเนินชีวิตของชาวบ้านสูงขึ้น

“ก่อนหน้านี้ร้องเรียวนมาทุกที่ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ สาเหตุเพราะมีผลประโยชน์กว่าแสนล้านบาท เราต้องการการขนถ่ายแบบระบบปิด ให้บริษัททำตามกฎหมาย ขอให้บริษัทแก้ไขปัญหาที่เกิดกับชาวบ้านทั้งหมดเสียก่อน จึงไปทำ EIA ชาวบ้านไม่คัดค้านการทำธุรกิจขนถ่ายสินค้าท่าเรือ แต่ต้องทำให้ถูกต้องและไม่ก่อผลกระทบต่อชาวบ้าน” อำนาจ กล่าวทิ้งท้าย

กองภูเขาถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ที่ขนส่งผ่่านเข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง ขนส่งขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา – ป่าสัก ก่อนจะนำขึ้นท่าที่ อ.นครหลวง เพื่อขนส่งต่อทางรถไปใช้ยังโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในพื้นที่ จ.สระบุรี / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ในขณะที่ ธรรมวิทย์ ศรีเกริกกริช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด ซึ่งได้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ของโครงการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเรือขนถ่ายสินค้าของบริษัท ท่าเรืออยุธยาและไอซีดี จำกัด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา กล่าวว่า การรับฟังความเห็นถือเป็นโอกาสอันดี ที่บริษัทได้มารับฟังเสียงของชุมชนเกี่ยวกับโครงการ เพราะชุมชนกับบริษัทจำเป็นจะต้องอยู่ร่วมกัน หากฃุมชนได้รับผลกระทบ บริษัทก็จะต้องใส่ใจเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาแก้ไข กำหนดมาตรการในการอยู่ร่วมกัน

“เราศึกษา EIA เพื่อดูสภาพแวดล้อมปัจจุบันและกำหนดแนวทางการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การทำ EIA ไม่ใช่ทำแค่ปีนี้ แต่เป็นพันธสัญญาที่บริษัทกับชุมชนจะแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน การทำ EIA คือการดูให้สามารถใช้เรือไม่ให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาก ให้เรือเข้าออกเป็นเวลาตามช่วงน้ำขึ้นน้ำลง ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำท่า ซึ่งจะช่วยเรื่องการลดผลกระทบการซัดพาตะกอนไปได้” ธรรมวิทย์ กล่าว

“เรื่องฝุ่นละออง เราเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าอาหารเช่น ข้าวสาร อาหารสัตว์ ฝุ่นพวกนี้ไม่อันตรายเหมือนกับพวกฝุ่นถ่านหิน เราพัฒนาอาคารคลุมในจุดขนถ่าย ระบบการกรองฝุ่น ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยในการขนย้ายสินค้าที่ท่าเรือ ถ้าฝุ่นมากก็เท่ากับว่าน้ำหนักสินค้าเราหายไปเช่นกัน ดังนั้นเราจึงพยายามลดฝุ่นให้เกิดน้อยที่สุด”

 

ขอขอบคุณต้นฉบับ https://greennews.agency/?p=22320

Social

Scroll to Top