สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เผยน้ำท่วมอยุธยาน่าเป็นห่วงจะท่วมถึงบ่อขยะบางบาลขนาดเกือบ 400 ไร่ ชี้เสี่ยงสารพิษรั่วไหลปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและก่ออันตรายประชาชนในพื้นที่ได้ พร้อมตั้งคำถามตัวโต “ทำไมอนุมัติสร้างบ่อขยะกลางทุ่งรับน้ำ”
เสี่ยงสารพิษรั่วไหล-ปนเปื้อนออกนอกบ่อขยะ
สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ให้สัมภาษณ์ GreenNews ต่อสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอยุธยาว่า หนึ่งในข้อกังวลที่หน่วยงานรับผิดชอบต้องให้ความสำคัญคือ ความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมถึงพื้นที่บ่อขยะใน ต.มหาพราหม์ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีขนาดใหญ่ถึง 372 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการรั่วไหลของสารพิษออกจากบ่อขยะสร้างการปนเปื้อนได้
“มีคนเข้าไปดูในพื้นที่บอกผมว่ารอบ ๆ เนี่ยท่วมหมดเลย แต่กองขยะไม่ท่วม เพราะว่ากองขยะมันยกพื้นสูงขึ้นไป ประมาณตึก 4 ชั้น
ผมคิดว่าโอกาสที่น้ำจะท่วมกองขยะคงเป็นไปได้ยาก แต่ผมกังวลเรื่องที่น้ำฝนจะชะกากของเสียลงไปในแหล่งน้ำให้น้ำเน่ามากขึ้น และลงไปแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้งาน เชื้อโรคที่อยู่ในน้ำก็อาจเป็นเชื้อรา น้ำกัดเท้า หรือเป็นโรคฉี่หนู หรือได้รับสารเคมีเข้าไปในร่างกาย
พอฝนตกลงมาน้ำก็ไหลผ่านกองขยะ แล้วสารต่าง ๆ ก็จะถูกชะล้างออกมาจากบ่อขยะ เช่น เชื้อโรค แบคทีเรีย สารอินทรีย์ พวกเศษอาหารทั้งหลาย กระป๋องสเปรย์ ถ่ายไฟฉาย หลอดนีออน แบตเตอรี่ ที่เรียกว่า ขยะพิษ ในชุมชนที่ถูกเทรวมอยู่ในนั้น สารต่าง ๆ ที่มาจากพวกพลาสติกทั้งหลาย ที่ยังไม่มีการแยกอยู่ในนั้นหมด ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองที่อยู่รอบ ๆ และไหลลงสู่ทางน้ำใต้ดิน
กลิ่นเหม็นที่เกิดจากสารอินทรีย์ สารจำพวกโลหะหนัก และ เชื้อโรค คือสิ่งที่จะปนเปื้อนออกมาแน่นอน เมื่อถูกฝนชะออกมาจากบ่อขยะ
แต่ถ้าเกิดน้ำท่วมขึ้นใหญ่ขึ้นมาเหมือนปี 54 ทางด้าน สนธิก็คิดว่าการยกบ่อขยะให้สูงขึ้นก็คงไม่สามารถป้องกันบ่อขยะจากการถูกน้ำท่วมได้
แต่ถึงแม้ว่าจะมีการป้องกันเป็นอย่างดีไม่ให้เกิดน้ำท่วม แต่กรณีที่ฝนตก ฝนก็จะชะขยะลงมี ที่เรียกว่า “น้ำชะกาก” ลงสู่ทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน จะส่งผลให้น้ำที่ชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภค ปนเปื้อนและไม่สามารถใช้ได้” สนธิอธิบาย
มาตรการที่พอทำได้
“สำหรับมาตราการป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งปนเปื้อนและสารเคมีรั่วไหลไปกับฝนนั้น ทางบ่อขยะควรมีการสร้างกำแพงล้อมรอบเพื่อกันไม่ให้ขยะไหนตามน้ำ ขุดคูล้อมรอบก่อขยะไม่ให้น้ำที่มีการปนเปื้อนหลุดออกไปและเป็นการกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในบ่อขยะ สุดท้ายควรมีบ่อบำบัดน้ำเสีย
นอกจากนั้นบ่อขยะต้องมีการปูแผ่นพลาสติกความหนาแน่นสูง(HDPE) ทั้งบ่อเพื่อไม่ให้น้ำซึมลงไปใต้ดิน ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะปูไหวหรือไม่ เพราะพื้นที่บ่อขยะกว้างกว่า 400 ไร่”
หน่วยราชการต้องลงมาตรวจสอบ มาดูว่าจะทำยังไง ทำหน้าที่ ทั้งทางจังหวัด หรืออาจจะขอให้กรมควบคุมมลพิษไปตรวจสอบ” สนธิกล่าว
คำถามใหญ่กว่า ทำไมอนุมัติสร้างบ่อขยะในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ
“ทำไมถึงได้มีการตั้งบ่อขยะในบริเวณที่เป็นที่รองรับน้ำ โดยที่บริเวณรอบๆ เป็นท้องทุ่งนาที่มีการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ที่มีโอกาสที่จะถูกน้ำท่วม ในเมื่อบางบาลเป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม แล้วทำไมถึงมีการตั้งบ่อขยะไว้ตรงนั้น แล้วเป็นบ่อขยะที่มีขนาดเกือบ 400 ไร่
ผมลองค้นดูพบว่า ที่เค้าเอาพื้นที่ตรงนี้มาทำ เพราะเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ไม่ต้องไปต้องซื้อที่ใคร เป็นที่หลวง
ผมว่าตอนที่เค้าย้ายบ่อขยะลงมา เค้าก็ย้ายมาดื้อ ๆ ไม่มีใครห้ามได้ บ่อขยะมันไม่ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องไปขอใคร ต่างคนต่างจัดการเอง” สนธิกล่าว
“โรงไฟฟ้าขยะ”
“ในอนาคตพื้นที่บริเวณนี้ก็มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 6.5เมกกะวัตต์ ขนาดพื้นที่ 73 ไร่ 2 งานโดยใช้ขยะจากบ่อขยะดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงวันละ 350 ตันต่อวัน โดยให้เอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งจาก ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ว่า โรงงานไฟฟ้าขยะจะต้องตั้งอยู่ในที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง และเป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำหลากอยู่รอบ ๆ ทาง แต่ทำไมจึงมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขยะบริเวณนี้
โรงไฟฟ้านี้ราชการทำเอง โดยอบจ.พระนครศรีอยุทยา ร่วมกับเอกชน โดยมีทาง คสช. สนับสนุนให้ทำ ซึ่งในเชิงหลักการการนำขยะมากองรวมไว้ในพื้นที่เดียว และมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง” สนธิกล่าว