Editor’s pick 05 | ส่งท้ายปี 2566 – ต้อนรับปี 2567 โลกเเละไทยยังคงเน้นหนักเเก้ปัญหา ‘Climate Change’ เเละ ‘ฝุ่นพิษ

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับปี 2566  ปีที่หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นปีแห่งความสับสนอลหม่าน เมื่อมองไปยังสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งระดับโลกเเละประเทศไทย ซึ่งหลายสถานการณ์ต่างกระทบถึงความยั่งยืนอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ปี 2567 สถานการณ์หลาย ๆ อย่างยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง ทว่าการก้าวเข้าสู่ปีใหม่เป็นเหมือนสัญญาณแห่งการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง หลายคนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น พร้อมผลักดันความยั่งยืนให้กับประเทศและโลกของเรา

จดหมายข่าวฉบับนี้ จึงได้รวบรวมสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในรอบ 1 เดือนนี้แบบกระชับ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข่าวสารหรือบทความ พร้อมอัปเดตเรื่องราวสำคัญและแนะนำสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาให้ทุกท่านรอติดตาม

เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน

  • Editor’s note: ข้อความจากบรรณาธิการ หยิบยกประเด็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs
  • Highlight issues: อัปเดตข่าวสาร ความเคลื่อนไหวสำคัญ แนะนำคอลัมน์คัดสรรที่อยากให้ทุกคนอ่าน
  • Our Activities: แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ SDG Move และเครือข่ายได้ดำเนินการในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • Upcoming event: แนะนำกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและอยากชวนทุกคนติดตามกิจกรรมน่าสนใจในแวดวง SDGs ที่กำลังจะเกิดขึ้น

Editor’s note

เมื่อสภาพอากาศกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ :
เปิดตัวชุดซีรีส์ใหม่ ‘One Health and Climate Change’

ปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตามข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization WMO) ที่ได้ออกมาประกาศว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิโลกสูงขึ้นประมาณ 1.4 องศาเซลเซียส เหนือระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมในปี 2559 ซึ่งโลกมีอุณหภูมิอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ทำให้บรรดาผู้นำโลกที่ร่วมการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศประจำปีขององค์การสหประชาชาติ หรือ COP28 ที่ได้ปรึกษาหารือเพื่อจัดการกับความท้าทายที่ต้องเผชิญในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไม่เพียงมีการสนทนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เท่านั้น แต่การประชุม COP28 ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ประเด็นสุขภาพได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อถกสนทนาถึงปัญหาที่ไปไกลเกินกว่าประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศเพียงเท่านั้น แต่ยังยึดโยงและส่งผลกระทบไปสู่ประเด็นทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

จากที่กล่าวข้างต้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ปัจจุบันปัญหาสภาพภูมิอากาศ ได้คร่าชีวิตผู้คนและคุกคามสุขภาพของผู้คนเป็นจำนวนมาก ตามที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น รวมถึงทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีตกอยู่ในความเสี่ยง ระหว่างปี 2573 ถึงปี 2593 คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นประมาณ 250,000 รายต่อปี เนื่องจากภาวะทุพโภชนาการ โรคมาลาเรีย โรคท้องร่วง และความเครียดจากความร้อน ขณะที่ วัณโรค ซึ่งเป็นโรคที่ไวต่อสภาพอากาศ ก็เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะต้อง ยุติการแพร่ระบาดให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่กำหนดไว้ ภายในปี 2573

ในปี 2567 นี้ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ในฐานะศูนย์วิจัยที่มีภารกิจเพื่อติดตามและสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะในประเทศไทย จึงได้จัดทำเนื้อหาที่จะนําเสนอภายใต้ธีม ‘One Health and Climate Change’ หรือ ‘สุขภาพหนึ่งเดียวและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ด้วยเล็งเห็นความสำคัญว่า ณ เวลานี้เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะต้องมีการหันมาทบทวนผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยบนเวทีโลกมานานแล้ว โดยนำมาทบทวนผ่านมุมมองของ ‘One Health’ เพราะไม่อาจพิจารณาเพียงมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น แต่ทบทวนผ่านวิธีการแก้ปัญหาสุขภาพที่รวมเอาแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพทั้งของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งได้พิจารณาโดยตระหนักถึงความสัมพันธ์และความทับซ้อนระหว่างที่เกิดจากผลกระทบร่วมกันระหว่างมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ล้วนเกิดขึ้นมานานแล้ว หยิบยกขึ้นมาทบทวนและพูดคุยอย่างจริงจังในปีนี้ ด้วยธรรมชาติก็ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันที่ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นรุนแรงมากกว่าในอดีต

ดังนั้น เดือนธันวาคมที่ผ่านมา จึงได้มีการเผยแพร่บทความภายใต้ธีม ‘One Health and Climate Change’ ในหัวข้อ “โลกรวนป่วนโรค: สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กับโรคระบาด” เพื่อเน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อเส้นทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ SDG 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ SDG 13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลกระทบที่เชื่อมโยงต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเป้าหมายอื่น ๆ อย่างไรบ้าง

Highlight issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 จนถึง มกราคม 2567 พบว่ามีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้

 

  1. ปิดฉากการประชุม COP28 ชวนสำรวจบทสรุป ข้อตกลงลดการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ที่ต้องจับตามอง เน้นย้ำถึงเป้าหมายการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และตระหนักว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 43 ภายในปี 2573 และร้อยละ 60 ภายในปี 2578 ซึ่งปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้น พร้อมเรียกร้องให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573
  2. สหภาพแรงงานพยาบาล เรียกร้องทุกประเทศแก้ ‘ปัญหาสุขภาพ’ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สืบเนื่องจากการประชุม COP28 สหภาพแรงงานพยาบาล (Global Nurses United :GNU) เรียกร้องรัฐบาลทุกประเทศแก้ปัญหาสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและบริการฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยรับประกันว่าโรงพยาบาลจะยังคงดำเนินการได้แม้จะเกิดภัยพิบัติทางภูมิอากาศ  เนื่องจากปัจจุบัน สภาพอากาศเลวร้าย ส่งผลเร่งให้เกิดการแพร่กระจายของโรค มลพิษทางอากาศ พืชผลเสียหาย และการโยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากบางพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของมนุษย์
  3. QS Sustainability Rankings 2024 มหาวิทยาลัยไทย 13 แห่ง ได้รับการจัดอันดับ ด้าน University of Toronto คว้าอันดับ 1 ของโลก วันที่ 5 ธันวาคม 2566 Quacquarelli Symonds หรือ QS ซึ่งเป็นสถาบันวิเคราะห์และจัดอันดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยด้านความยั่งยืน (QS Sustainability Rankings 2024) โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือช่วยให้นักศึกษาได้สำรวจถึงความมุ่งมั่นที่จะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยทั่วโลก มหาวิทยาลัยที่ได้อันดับ Top 5 ระดับโลก ได้แก่อันดับที่ 1 University of Toronto (แคนาดา) อันดับที่ 2 University of California, Berkeley (UCB) (สหรัฐอเมริกา) อันดับที่ 3 The University of Manchester (สหราชอาณาจักร) อันดับที่ 4 University of British Columbia (แคนาดา) เเละ อันดับที่ 5 The University of Auckland (นิวซีแลนด์)
  4. เผยแพร่แล้ว! รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2567 – Human Rights Watch ชี้การปราบปรามโดยรัฐในเอเชียเพิ่มขึ้น กังวลระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกทำลาย วันที่ 11 มกราคม 2566 Human Rights Watch เผยแพร่ รายงานการทบทวนสิทธิมนุษยชนระดับโลกประจำปี 2567 (World Report 2024: Our Annual Review Of Human Rights Around The Globe) นับเป็นฉบับที่ 34 มีความยาวทั้งสิ้น 740 หน้า รายงานข้างต้นชี้ว่าการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลในเอเชียกำลังส่งผลเสียต่อสิทธิมนุษยชนทั้งระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทศ โดยเอเชียนั้นมีความแตกต่างจากยุโรป แอฟริกา และอเมริกา เนื่องจากไม่มีกฎบัตรสิทธิมนุษยชนหรือสถาบันที่เข้มแข็งระดับภูมิภาคในการป้องมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ดังเห็นได้ว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนได้รับการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่สามารถจัดการกับวิกฤติสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคได้ โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากวิกฤติในเมียนมา
  5. WBA เผยผลสำรวจความเท่าเทียมทางเพศในบริษัทชั้นนำ ชี้ผู้หญิงจำนวนมากเผชิญความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน องค์กรสมาพันธ์เกณฑ์มาตรฐานโลก (World Benchmarking Alliance : WBA) เผยแพร่รายงานผลสำรวจความเท่าเทียมทางเพศในบริษัทขนาดใหญ่ โดยชี้ว่าแม้ปัจจุบันผู้หญิงจะเข้าถึงบทบาทการเป็นผู้นำมากขึ้น แต่บริษัทจำนวนมากยังมีหนทางอีกยาวไกลในการสร้างหลักประกันความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน รายงานดังกล่าวชี้ว่าบริษัททรงอิทธิพลของโลกมากกว่า 1,000 บริษัท มีภาพลักษณ์ที่น่าห่วงกังวลเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยพบว่าผู้หญิงไม่มีบทบาทในตำแหน่งผู้นำและข้อกังวลของพวกเธอมักถูกมองข้ามและไม่ได้รับการรับฟัง นอกจากนี้มีบริษัทจำนวนไม่มากที่ดำเนินการเพื่อป้องกันความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน

ประเทศไทย

 

  1. ผลสำรวจ PISA พบเด็กไทย 1 ใน 4 ต้องอดมื้อกินมื้อ สาเหตุจากความยากจน เหตุไม่มีเงินซื้อข้าวกิน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ข้อมูลระบุว่ามีเด็กไทยอย่างน้อย 1 ใน 4 หรือร้อยละ 27.6 ต้องอดมื้อกินมื้ออย่างน้อย 1 มื้อต่อสัปดาห์ และกว่าร้อยละ 5 ต้องอดมื้อกินมื้อแทบทุกวัน ขณะที่ ผลการศึกษาระดับนานาชาติจาก 83 ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ พบว่า ในปี 2566 มีผู้คนราว ๆ 1.14 พันล้านคนที่ตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ยังระบุว่า ทั้งรายได้ส่วนบุคคล ราคาอาหาร และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งอาหาร และความไม่มั่นคงทางอาหารส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของเด็กและระดับการศึกษาโดยรวมของชาติ
  2. กรมการแพทย์ จัดตั้ง ‘คลินิกมลพิษ’ แห่งแรกในประเทศไทย โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้จัดตั้งคลินิกมลพิษเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนและตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นคลินิกเฉพาะทางที่เน้นการทำงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญ เช่น 1) ประเมินสถานการณ์มลพิษ และประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจากมลพิษทางอากาศ 2) การให้ข้อมูล และประเมินสภาวะสุขภาพ และ 3) การรักษาและดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการรักษาและกลับไปใช้ชีวิตปกติ
  3. สภาฯ พิจารณา 7 ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด หวังลดมลพิษฝุ่น PM2.5 จับตาการลงมติต่อในการประชุมครั้งหน้า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมวาระการพิจารณาเรื่องด่วน “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อประชาชน” โดยมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธาน ซึ่งร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด มีทั้งสิ้น 7 ฉบับ โดย 6 ฉบับเสนอโดยรัฐบาลและพรรคการเมือง ได้แก่ เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และก้าวไกล ส่วนอีก 1 ฉบับ เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด
  4. ก้าวไกล ยื่นร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4 ฉบับ เข้าสภา หวังผลักดันแก้ปัญหา PM2.5 และ Climate Change ในเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน  วันที่ 13 ธันวาคม 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล นำโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ และ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. เชียงใหม่ เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อแถลงข่าวยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อมต่อสภา 4 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร (2) ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) (3) ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (4) ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน
  5. เผยเเพร่แล้ว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ.2566” ชวนสำรวจตัวอย่างการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2566 เปิดตัว  รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 รายงานข้างต้นจัดทำโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยความร่วมมือจากองค์กรหุ้นส่วน โดยปีนี้จุดเน้นสำคัญคือการขับเคลื่อน SDGs ระดับพื้นที่ตัวอย่าง 5 พื้นที่ ได้เเก่ 1) อาศรมวงศ์สนิท จังหวัดนครนายก 2) บ้านมั่นคงชุมแพ จังหวัดขอนแก่น 3) ข้าวเม่านายอ จังหวัดสกลนคร 4) รักษ์ยั่งยืนเชียงของ จังหวัดเชียงราย 5) ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ขอขอบคุณต้นฉบับ https://www.sdgmove.com/2024/02/06/editors-pick-05-review-sdg-2024/

Social

Scroll to Top