คืนวันที่ 29 ก.พ. 2567 เวลาประมาณ 22.20 น. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.พระนครศรีอยุธยา แจ้งว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมีและกากอุตสาหกรรมจำนวนรวมกันมากกว่า 4,000 ตัน ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางชุมชนในพื้นที่หมู่ 2 ต.ภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรให้อพยพโดยด่วน หากไม่สามารถทำได้ ก็ขอให้อยู่พื้นที่เหนือลม หลีกเลี่ยงการสูดควัน สวมอากาศอนามัย และสังเกตอาการตนเอง ด้านโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดถูกสั่งให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์
คำสั่งอพยพประชาชนยกเลิกภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่เจ้าหน้าที่ยังพยายามเข้าควบคุมเพลิง โดยพบว่าพื้นที่บริเวณรอบ ๆ สามารถได้กลิ่นเหม็นที่เกิดจากการเผาไหม้ของกากอุตสาหกรรมที่เป็นกรด สารพิษ สายไฟฟ้าใช้แล้ว และโลหะหนักจำนวนมาก
ล่าสุด ควบคุมเพลิงได้แล้ว และยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ยังให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้เฝ้าระวังอาการจากการสูดดมสารพิษ
รู้จัก บริษัท เอกอุทัย จำกัด ผู้เช่าโกดังเก็บสารเคมีที่ไฟไหม้
ย้อนไปเมื่อปลายปี 2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และกรมควบคุมมลพิษตรวจสอบพบว่า มีขยะสารเคมีและกากอุตสาหกรรมถูกนำมาซุกซ่อนไว้ในโกดังเช่าแห่งหนึ่งใน ต.ภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
ขยะสารเคมีและกากอุตสาหกรรมดังกล่าว คือต้นเหตุของเพลิงไหม้เมื่อคืนที่ผ่านมา
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในปี 2565 เกิดจากชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงร้องเรียนว่า พบของเหลวสีส้มรั่วซึมผ่านกำแพงของโกดังไหลลงปนเปื้อนแปลงนาข้าวของชาวบ้านที่อยู่ติดกัน โดยสามารถตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำในแปลงนาข้าว ได้ค่า pH เท่ากับ 4-5 ถือว่ามีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ส่งผลให้นาข้าวได้รับความเสียหาย
ต่อมาพบว่าผู้เช่าโกดังคือ บริษัท เอกอุทัย จำกัด (บจก.เอกอุทัย) ซึ่งนั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เอกชนรายนี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน
ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า บจก.เอกอุทัย ได้รับใบอนุญาตลำดับที่ 105 และ 106 ประกอบกิจการทำเชื้อเพลิงทดแทน ทำเชื้อเพลิงผสม ซ่อมและล้างบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย นำน้ำมันหล่อเย็นที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการกรองเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ คัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย นำสารละลายกรด–ด่าง ที่ใช้แล้วมาผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
กล่าวโดยสรุปคือ บริษัทแห่งนี้รับบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งของแข็งและของเหลวครบวงจร โดยมีทั้งสิ้น 3 สาขาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา และทุกสาขาของบริษัทฯ มีปัญหาด้านคดีความที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
คดีความด้านสิ่งแวดล้อม ของ บจก.เอกอุทัย ใน 3 จังหวัด
สาขากลางดง จ.นครราชสีมา เคยถูกกล่าวหาลักลอบทิ้งสารเคมี
บจก.เอกอุทัย สาขากลางดง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลสีมามงคล ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เคยถูกร้องเรียนในช่วงกลางปี 2564 ว่าได้ฝังกลบกากของเสียอุตสาหกรรมบริเวณพื้นที่โรงงานและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชน
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 กรมควบคุมมลพิษและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) นำรถแบคโฮขุดในจุดที่พบค่าไอระเหยของสารอินทรีย์ระเหยง่ายจำนวน 4 จุด และขุดที่ระดับความลึก 4-5 เมตร ซึ่งพบว่าทุกจุดมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรง และมีชั้นดินที่มีลักษณะการทับถมเป็นชั้น บางชั้นมีลักษณะของสารปนเปื้อนอยู่
ตัวอย่างดินปนเปื้อนทั้งหมดถูกนำส่งไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการและนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อใช้เป็นหลักฐานในเวลาต่อมา เพื่อดำเนินคดีในข้อหาลักลอบทิ้งสารเคมี
ข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศระบุด้วยว่า โรงงานแห่งนี้เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่มาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง ระหว่างปี 2547-2564 และเคยมีคดีความบุกรุกพื้นที่ป่าด้วย
สาขาศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เคยถูกฟ้องกรณีมลพิษจากบ่อฝังกลบขยะ
บจก.เอกอุทัย สาขาศรีเทพ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเดิมทีเป็นหลุมฝังกลบของ บริษัท โซ้วกิมฮวด ดิซโพส เวสท์ จำกัด (1999) ซึ่งโอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ถือครองไว้เพียงไม่กี่เดือน ก่อนโอนต่อให้ บจก.เอกอุทัย ในปี 2559
ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงประสบปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากขยะ มลพิษจากฝุ่นละอองจากการประกอบกิจกรรมภายในหลุมฝังกลบ และต่อมากรมควบคุมมลพิษตรวจสอบพบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงแมงกานีส นิกเกิล สารหนู และแบเรียม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการประกอบกิจการของบริษัททำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำใต้ดินและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจึงยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจัง ในฐานะผู้อนุมัติและผู้กำกับดูแล เนื่องจากเห็นว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่
วันที่ 5 ส.ค. 2565 ศาลปกครองนครสวรรค์สั่งให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ควบคุมให้ บจก.เอกอุทัย สาขาศรีเทพ ฟื้นฟูและแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากการประกอบกิจการฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งปัจจุบันการฟื้นฟูยังไปไม่ถึงไหนและชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนจากการปนเปื้อน
ทั้งนี้ยังพบว่า บจก.วิน โพรเสส ซึ่งครอบครองหลุมฝังกลบขยะก่อนหน้า บจก.เอกอุทัย นั้น ถูกดำเนินคดีฐานลักลอบฝังกลบกากอันตรายและของเสียอุตสาหกรรม ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่หนองพะวา ต.บ้านบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำและแปลงเกษตรกรรม
ในปี 2565 ศาลจังหวัดระยองพิพากษาให้ บจก.วิน โพรเสส จ่ายค่าเยียวยาจำนวน 20 ล้านบาท และฟื้นฟูผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
สาขาอุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกดำเนินคดีลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม
บจก.เอกอุทัย จำกัด สาขาอุทัย ตั้งอยู่ในหมู่ 4 ต.สามบัณฑิต อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยพบว่าตั้งแต่ช่วงปี 2565 เป็นต้นมา ทางโรงงานถูกตรวจสอบโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษมาโดยตลอด เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนว่าโรงงานของบริษัทลักลอบระบายน้ำเสียออกมาปนเปื้อนแหล่งน้ำสาธารณะ
นอกจากนี้ยังพบความเชื่อมโยงว่า ทางโรงงานอาจลักลอบนำกากอุตสาหกรรมและขยะสารเคมีไปทิ้งไว้ในโกดังเช่าแห่งหนึ่งใน ต.ภาชี ซึ่งห่างจากตัวโรงงานประมาณ 20 กิโลเมตร
ถึงแม้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งให้ทางบริษัทหยุดการประกอบการ หลังตรวจสอบความผิดปกติดังกล่าว แต่ในเวลาต่อมาก็ยังพบว่า ทางบริษัทยังคงลักลอบเททิ้งกากของเสียภายในและภายนอกพื้นที่โรงงานจำนวนมาก
วันที่ 11 ส.ค. 2566 อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบอาคารและพื้นที่โดยรอบภายในโรงงาน พบของเหลวมีลักษณะเป็นกรดเข้มข้น ส่งกลิ่นเหม็นฉุนอย่างรุนแรง เป็นลักษณะเททิ้งลงบนพื้นภายในโรงงาน โดยไม่ได้บำบัดกำจัดอย่างถูกวิธี รวมถึงพบร่องรอยการขุดดินเป็นหลุมกว้างและมีการเททิ้งและฝังกลบของเสียภายในพื้นที่โรงงานอีกเป็นจำนวนมาก
พื้นที่ภายนอกติดกับด้านข้างของโรงงานซึ่งเป็นที่ดินเอกชนก็พบการต่อท่อสายยางและท่อพีวีซีจากบ่อกักเก็บของเหลวภายในโรงงานออกไปเททิ้งภายนอกโรงงาน ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมข้างเคียง
ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงออกคำสั่งให้ปิดโรงงาน บริษัท เอกอุทัย จำกัด สาขาอุทัย และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทเคยประกาศปิดกิจการและประกาศขายโรงงานไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ถูกตรวจสอบพบความเชื่อมโยงว่าลักลอบนำกากอุตสาหกรรมและขยะสารเคมีไปซุกซ่อนไว้ในโกดังที่ตั้งอยู่ใน อ.ภาชี
สำหรับเหตุเพลิงไหม้โกดังใน อ.ภาชี เมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรงงานของ บจก.เอกอุทัย สาขาอุทัยนั้น ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ขยะสารเคมีและกากอุตสาหกรรมจำนวนกว่า 4,000 ตันภายในโกดังเป็นของกลางที่ถูกอายัดและอยู่ระหว่างรอนำไปกำจัด ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ที่ 6.9 ล้านบาท แต่มาเกิดเหตุเพลิงไหม้เสียก่อน
ด้านนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบหาสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจเป็นการลอบวางเพลิงเพื่อทำลายหลักฐาน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2567 นายสเกน จันทร์ผดุงสุข นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลภาชี ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน ได้เข้ามาตรวจสอบภายในโกดังเก็บสารเคมีที่เกิดไฟไหม้ดังกล่าว แล้วพบว่า “ได้เจอมีลักษณะของการวางเพลิง เพื่อทำลายหลักฐานไว้เกือบ 20 จุด โดยใช้เชื้อเพลิงเป็นตัวจุดชนวน”